วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เผยวิธีกันน้ำเข้าบ้านแบบ DIY

หลังจากที่ศึกษาและติดตามข่าวน้ำท่วมมาเป็นระยะ จากน้ำท่วมที่นครราชสีมา ไล่มาถึงบ้านญาติที่ลพบุรี สิงห์บุรี เรื่อยมาจนมาถึงอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม พุทธมณทล จนเข้ากรุงเทพฯ แล้วตอนนี้!!!

เนื่องจากสังเกตเห็นความผิดปกติของการบริหารจัดการน้ำอยู่เนืองๆ เห็นนิคมอุตสาหกรรมจมบาดาลไปทีละแห่งๆ  เราจึงเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ทั้งซื้อน้ำดื่มมาเก็บตุนไว้ และหาถังน้ำมารองรับน้ำไว้แล้ว  แม้ในช่วงแรกคนรอบข้างและทางบ้านจะมองว่า "เวอร์"  แต่ในวันนี้ ข้อเท็จจริงก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่ "เวอร์" นั้น น่ะถูกต้องแล้ว

ณ ตอนนี้ ใกล้ถึงเวลาที่น้ำจะมาเยือนเราชาวกรุงเทพฯ แล้ว น้ำจะต้องกลับสู่ทะเล น้ำจำต้องผ่านบ้านเรา และเราจำต้องเตรียมตัวต้อนรับน้ำเหล่านั้น และต้องต้อนรับให้สมเกียรติ์ที่เรียกว่า "มวลน้ำ"

น้องน้ำเยี่ยมเยียนบ้านเพื่อน บ้านญาติมาตามลำดับ เอาไม่อยู่กันซะคน!!!  อย่างไรก็ตาม เราจะสู้ให้ถึงที่สุด 15 ปีที่แล้ว เราก็เคยอยู่กับน้ำมาแล้ว ก็ยังอยู่ได้ เคยลุยน้ำไปทำงานมาเป็นอาทิตย์ๆ ก็ทำมาแล้ว  มาปีนี้ เมื่อรู้ข่าวว่าน้ำจะมาเยือนอีกสักครั้ง เราก็จะยินดี และเตรียมพร้อมต้อนรับน้องน้ำ อย่างมีสติ

เราก็ชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่รู้เรื่องก่อสร้างอะไร จะหาช่างมาทำกำแพงกั้นน้ำหน้าบ้านก็ไม่มีช่างที่ไหนว่างเลย กระสอบทรายก็แสนจะหายาก  ก็พึ่งได้จากใน social media นี่แหละ ที่บอกสารพัดวิธี Do it yourself (DYI) ป้องกันน้ำท่วมโดยไม่ต้องใช้กระสอบทราย

เราก็เลยทำตามวิธีการต่างๆ ที่ได้มีการแชร์กันมา  ผลก็เป็นแบบนี้

เริ่มต้นจากห้องน้ำ

 วิธีอุดทางน้ำเข้าจากโถส้วม

1. วัสดุที่ใช้ ผ้า 1 ผืน และ ดินน้ำมัน 1 กก.
2. คลี่ผ้าออก แล้วนำดินน้ำมัน วางกึ่งกลางผ้า
3. ห่อผ้ากับดินน้ำมัน และมัดไว้เป็นก้อน
4. นำก้อนที่มัดไว้มาอุดเข้าที่คอห่านส้วม ยัดให้แน่นๆ เพื่อให้ต้านแรงดันน้ำได้
5. นำขวดน้ำ 6 ลิตร บรรจุน้ำ และวางทับก้อนดินน้ำมันที่อุดคอห่านอีกครั้ง เพื่อความชัวร์ :)

(ดูรูปประกอบ)
จาก การป้องกันน้ำเข้าบ้านแบบ DIY

วิธีอุดไม่ให้น้ำเข้าทางท่อน้ำทิ้งภายในบ้าน

1. รูน้ำที่มาจากท่อระบายน้ำ
2. อุปกรณ์ที่ใช้มี ท่อ PVC ดินน้ำมัน ซิลิโคน เทปผ้า และแผ่นพลาสติกหนา 0.5 mm.
3. ยิงซิลิโคนรอบๆ ท่อ PVC แล้ววางครอบรูระบายน้ำไว้ จากนั้น รอให้ซิลิโคนแข็งตัวแล้วตามด้วยดินน้ำมันอุดรอบ ท่อ PVC ทั้งด้านในและด้านนอก
4. เสริมท่อให้สูงขึ้นโดยใช้แผ่นพลาสติกพันรอบท่อ PVC และใช้เทปผ้ากันน้ำ ยึดแผ่นพลาสติกไว้
(ใช้ในกรณีท่อ PVC ที่ซื้อมาสั้นไป เพราะกะความสูงน้ำผิด :P)
5. ตัดแผ่นพลาสติกเป็นวงกลมขนาดใหญ่กว่าวงท่อ PVC เล็กน้อย แล้วเอาดินน้ำมันติดรอบๆ
6. แปะติดด้านบนท่อ แต่ไม่ต้องแน่นมากนัก เอาแค่พอกันสัตว์ เลื้อยคลาน ตะขาบ แมลงสาบ ฯลฯ ได้ก็พอ


หมายเหตุ:
การทำวิธีนี้ จะดีกว่าการอุดท่อ เพราะแรงดันน้ำมีมหาศาล อุดไปก็เอาไม่อยู่ แต่แบบนี้คือยอมให้น้ำเข้าบ้านเราได้ แต่จำกัดบริเวณให้เข้าได้แค่ในท่อ PVC เท่านั้นนะจ๊ะ :)

(ดูรูปประกอบ)
จาก การป้องกันน้ำเข้าบ้านแบบ DIY

" สำหรับวิธีป้องกันน้ำเข้าบ้านสำหรับตึกแถว ทาวเฮ้าส์ และประตูกระจกบานสไลด์ จะขอใส่ไว้ในโพสหน้านะคะ เพื่อจะได้แยกเป็นหัวข้อๆ และกันข้อความยาวเกินไป จนคนอ่านขี้เกียจอ่านคะ "
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรับประกันได้ว่า สิ่งที่เราเตรียมรับมือไว้นั้น จะสามารถต้านทาน "มวลน้ำ" ได้ไหม เพราะเราไม่มีทางรู้แน่นอนเลยว่า น้ำจะท่วมบ้านเราสูงแค่ไหน และเราจะ "เอาอยู่" แบบนายกหญิงยิ่งลักษณ์พูดหรือไม่  ดังนั้น เราจึงต้องมีแผน 1 แผน 2 และ แผน 3 เตรียมไว้

แผนหนึ่งอย่างที่เห็น คือการทำกำแพงกั้นน้ำเข้าบ้าน และอุดรู หรือทำกาลักน้ำ ไว้ตามจุดต่างๆ ในชั้นล่าง

แผนที่สอง คือ หากแผนแรกล้มเหลว เราก็ต้องเชิญคุณน้ำเข้าบ้าน  ดังนั้น เราก็ต้อง ห่อ ยก ปก ป้อง ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านไว้ รวมทั้ง สำรวจ Breaker ไว้ว่าอันไหนชั้นล่าง อันไหนชั้นบน เวลาฉุกเฉิน จะได้สับ breaker ลงได้ไม่สับสน

แผนที่สาม (จะว่าเป็นแผนที่สาม ก็อาจไม่ถูกซะทีเดียว เรียกว่าเป็นแผนเตรียมรับมือ กับการอยู่กับน้ำท่วมขัง น่าจะถูกต้องกว่า) แน่นอนว่า หากแผนหนึ่งล้ม แผนสองเอาไม่อยู่ เพราะน้ำท่วมสูงเกินไป หรือนานเกินไป และต้องถูกตัดน้ำ ตัดไฟ  งานนี้ก็ต้องเตรียมของยังชีพ และอุปกรณ๋สื่อสารให้พร้อม  ทีนี้ก็ต้องมานั่งนึกล่ะ ว่าถ้าถูกน้ำขังอยู่ในบ้าน แล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

เท่าที่นึกออกก็

1. อาหารแห้ง อาหารสดเตรียมไว้  ดูว่ามีอะไรบ้าง อะไรที่เสียง่ายจะเอามาทำอะไร  เช่น หมูสด อาจนำมาทอดกรอบ ก็จะเก็บไว้ได้นานหน่อย   แนะนำให้หาถังแช่แข็งเตรียมไว้  และทำน้ำแข็งในตู้เย็นเก็บไว้เยอะๆ  พอไฟฟ้าถูกตัด ก็เอาน้ำแข็งมาใส่ถังแช่ ช่วยเก็บอาหารสดไปได้อีกสัก 2-3 วัน
2. ตรวจดูเตาแก้ส ให้มีแก้สใช้ได้ ไม่ขาด
3. น้ำที่สำรองไว้ในถัง ก็เก็บน้ำให้เต็มไว้ตลอด แกว่งสารส้มด้วย เพื่อให้ได้น้ำใสสะอาด
4. น้ำดื่ม ก็เตรียมไว้ให้พอมีใช้ได้สัก 10-15 วัน  ดื่มน้ำไป แล้วต้มน้ำมาใส่ เก็บไว้ให้เต็ม
5. เตรียมถุงดำไว้หลายๆ ขนาด ถุงดำขนาดพอเหมาะ เอาไว้ทำส้วมฉุกเฉิน และซื้อปูนขาวเตรียมไว้ เอาไว้โรยป้องกันเชื้อโรค
6. ซื้อเชนไดร์ท มาเก็บไว้ เผื่อไว้ป้องกันแมลงสาบ ตะขาบ และสัตว์อื่นๆ ที่จะมากับน้ำ
7. ยารักษาโรค ทั้งยาแก้ท้องเสีย แก้คัน แอลกอฮอล์ ฯลฯ  อ้อ รวมทั้งยาประจำตัวของคุณแม่ ที่ต้องทานประจำ ก็ไปหาซื้อมาตุนไว้ก่อน เดี๋ยวน้ำท่วมออกไปซื้อไม่ได้
8. โทรศัพท์มือถือ ลืมไม่ได้  มีกี่เครื่องๆ ต้องชาร์ตแบตให้เต็มไว้  เพราะถ้าไม่มีไฟฟ้า แล้วมือถือแบตหมด ก็เหมือนถูกตัดการสื่อสารจากโลกภายนอกเลย
9. วิทยุใส่ถ่าน เตรียมไว้รับข่าวสาร
10. ศึกษาหาความรู้สู้น้ำท่วมเอาไว้  ถ้าให้ดีก็พิมพ์เอาไว้อ่านก็ดี จะได้นำความรู้มาใช้ได้ในยามจำเป็น

ที่ศึกษาหามาก็

คู่มือป้องกันโรคจากน้ำท่วม จากลิงค์ข้างล่างเลยค่ะ
http://www.ddc.moph.go.th/emg/flood/showimgpic.php?id=512

และ คู่มือน้ำท่วม ซึ่งเผยแพร่โดย งานสื่อสารนานาชาติ (CICC) ศูนยสื่อสารองค์กรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  (คลิกเพื่อ download คู่มือน้ำท่วม )

แนะนำให้อ่านกันทันที เพราะเราจะได้เรียนรู้ และเตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

แผนสุดท้าย  ถ้าหากแผนที่ 3 รับมือไม่ไหว เนื่องจากถูกขังอยู่นาน เสบียงหมด หรือน้ำเน่าเสีย ฯลฯ เหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เราอยู่บ้านไม่ได้แล้ว เราก็ต้อง "อพยพ"

ทั้งนี้ แบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ทรัพย์สินมีค่าต่างๆ พวกแก้วแหวน เงินทอง แนะนำว่า ให้เอาไปใส่ตู้เชฟธนาคาร ซะตอนที่ธนาคารยังเปิด และยังมีโอกาสออกจากบ้านได้
2. เบิกเงินสดติดตัวไว้บ้าง เพราะยามฉุกเฉิน เราอาจหาตู้ ATM เบิกไม่ได้ และไม่มีเงินสดใช้จ่ายยามจำเป็น เช่น ใช้เป็นค่าจ้างเรือ เพื่อเดินทางไปไหนๆ
3. ควรเตรียมเอกสารสำคัญๆ และของใช้จำเป็นไว้แต่เนิ่นๆ กรณีต้องอพยพออกจากบ้านจะได้ไม่ฉุกละหุ และไม่ลืมของสำคัญ (เพราะการกลับมาเอาของที่บ้านขณะน้ำท่วม คงไม่ไช่เรื่องสะดวกนัก)  หากล่องพลาสติกไว้สักใบ ขนาดพอเหมาะไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป สำหรับใส่เอกสารและของจำเป็นต่างๆ เพื่อจะได้ขนย้ายได้สะดวก และป้องกันการเปียกน้ำขณะขนย้าย
4. เตรียมหาข้อมูลศูนย์อพยพใกล้บ้าน หาเบอร์ติดต่อกรณีฉุกเฉินเอาไว้  หรือถ้าให้ดี หาที่พักสำรองไว้ อาจเป็นบ้านญาติ หรือโรงแรมที่พักที่สามารถไปพักได้  (ต้องแน่ใจว่าที่พักสำรองนั้น ไม่อยู่ในพื้นที่โดนน้ำท่วมด้วยนะคะ)

แผนทั้งหมดก็มีแค่นี้แหละ ตอนนี้เริ่มทำตามแผนไปบ้างแล้ว เดี๋ยวจะเตรียมต่อให้ครบทุกข้อ แต่ตอนนี้ขอเอาข้อมูลมาลงไว้ก่อน เผื่อเพื่อนๆ ได้อ่าน แล้วอยู่ในเขตที่กำลังจะโดนน้ำท่วมเหมือนกัน และคิดจะอยู่ต้อนรับน้ำ อาจจะได้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมมาบ้าง และหากมีเพื่อนคนไหน มีประสบการณ์ หรือมีข้อแนะนำอะไร ก็ช่วยบอกด้วยนะคะ จะได้มาแชร์กันค่ะ

ขอบคุณที่อ่านจบค่ะ
น้ำใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น