วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คู่มือทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม ด้วยตนเอง


เปิดคู่มือ "ทำความสะอาดบ้าน" ฉบับเข้มข้น ขจัดคราบน้ำท่วม "ด้วยตัวเอง"

ถึงตอนนี้ระดับน้ำในหลายพื้นที่เริ่มลดลง ผู้คนเริ่มทยอยกลับเข้าบ้าน

บ้านหลังเดิมที่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สำหรับบ้านที่ไม่ได้ยกข้าวของเครื่องใช้ก่อนเผ่นออกจากบ้าน อาจจะต้องทำใจสักพักหนึ่งก่อนจะก้าวเข้าไปชมผลงานที่น้องน้ำฝากไว้

น้ำจอมพลังที่อาจจะเคลื่อนย้ายทุกสิ่งทุกอย่างในบ้าน โยกไปคนละทิศละทาง กองระเกะระกะอยู่ทั่วบ้าน สภาพไม่เหมือนเดิมแน่นอน หรืออาจจะแค่ฝากคราบสกปรกไว้ตามพื้น ผนัง และขอบโต๊ะเก้าอี้ ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและระยะเวลาที่น้ำคงอยู่

ฉะนั้น ควรตั้งสติให้มั่นแล้วค่อย ๆ เดินกลับเข้าบ้านอย่างระมัดระวัง

มีขั้นตอนและวิธีการที่จะเข้าไปจัดการบ้านหรือที่อยู่อาศัย หลังจากที่น้ำท่วมขังมาเป็นเวลานานนับเดือนนั้น ซึ่งมีรายละเอียดมากมายที่ต้องจัดการอย่างระมัดระวัง

กมลพรรณ (กอวัฒนา) นุชผ่องใส กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ฟาร์อีสต์ เพียร์เลส (ไทยแลนด์) 1968 จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการทำความสะอาดแบบครบวงจรมานานกว่า 40 ปี แนะนำวิธีทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดด้วยตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ

เตรียมพร้อมก่อนเข้าบ้าน 

เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อาทิ แว่นตาช่าง, หน้ากากกรองฝุ่น, ผ้าปิดปากปิดจมูก, ถุงมือยาง, รองเท้าบูต, ไฟฉาย และหมวกนิรภัย

จากนั้นแต่งกายให้พร้อมก่อนเข้าไปในตัวบ้าน สิ่งสำคัญคือห้ามประมาทและอย่าเข้าไปคนเดียว ต้องมีคนไปเป็นเพื่อน และต้องมีคนรออยู่ด้านนอก เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดขึ้น

ขั้นตอนก่อนเข้าไปยังตัวบ้านให้ปฏิบัติดังนี้ 

1.ก่อนเข้าไปในตัวอาคารบ้านเรือน ให้เดินดูบริเวณรอบ ๆ บ้านก่อน โดยสำรวจพิจารณาดูโครงสร้างที่อาจจะเสียหายเป็นอันตรายก่อนตัดสินใจที่จะเข้าไป

2.ระวังเรื่องสัตว์มีพิษต่าง ๆ ที่อาจหนีน้ำเข้าไปอาศัยอยู่ในตัวบ้าน

3.สังเกตดูรอยร้าว หรือการบิดตัวของโครงสร้างก่อนตัดสินใจเข้าไป

4.ตรวจดูที่จัดเก็บถังแก๊ส มองหาสิ่งผิดปกติที่อาจจะมีการรั่วซึม

5.ตรวจสอบการจ่ายไฟให้แน่ใจว่า ไฟฟ้ายังไม่ได้จ่ายกระแสเข้าไปในบ้าน โดยการดูที่คัตเอาต์ว่ายังมีการสับสวิตช์ลงอยู่หรือไม่

6.เปิดประตูให้เกิดการถ่ายเทอากาศ อย่าเหยียบเข้าบ้านทันที ให้สังเกตพื้นบ้าน ลองค่อย ๆ ใช้เท้าทิ้งน้ำหนักเพื่อทดสอบก่อน

7.สังเกตดูเพดานว่ามีการอมน้ำ แอ่นท้องช้าง หรือมีคราบน้ำอยู่หรือไม่ เพราะเพดานอาจพังทลายลงมาได้เมื่อมีการเคลื่อนไหวให้ระมัดระวัง

ตรวจเช็คเชื้อโรค-ระบบไฟฟ้า 

ขั้นตอนของการทำความสะอาด ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก


" ต้องคำนึงถึงการกำจัดการฆ่าเชื้อโรคเชื้อราที่เราอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จากการสัมผัสหรือหายใจเอาเชื้อเหล่านี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว "  กมลพรรณย้ำ

ดังนั้น ต้องคำนึงถึงการป้องกันตนเอง เช่น การใส่ถุงมือยาง และรองเท้าบูต ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคเชื้อรา, ป้องกันการสัมผัสสารเคมี รวมถึงป้องกันไฟดูด รวมทั้งคาดผ้าปิดจมูกและปากที่ช่วยป้องกันการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราและไอระเหยของสารเคมีเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

ในระหว่างการทำ ความสะอาดควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศระบายได้มากที่สุด โดยอาจเปิดพัดลมเพดานช่วยระบายอากาศ

ข้อห้ามคือ ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะเชื้อโรคต่าง ๆ จะถูกดูดเข้าไปอยู่ในระบบปรับอากาศ และจะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อราต่อไป ถือเป็นภัยเงียบที่เรามองไม่เห็น

จากนั้นก็มาเริ่มที่ระบบไฟฟ้าของทั้งบ้าน ซึ่งจะต้องถูกปิดทันทีที่น้ำท่วมบ้าน ดังนั้นระบบไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่จะต้องจัดการทันทีที่น้ำลด โดยให้ช่างไฟฟ้ามืออาชีพมาตรวจสอบและซ่อมแซมให้หมดก่อนจึงจะสามารถกลับไปใช้ไฟฟ้าได้

บางครั้งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเดินสายไฟใหม่ทั้งหมด และสายไฟจะต้องแห้งสนิท รวมทั้งสวิตช์ไฟ, เต้าเสียบปลั๊กไฟต่าง ๆ ที่จมอยู่ใต้น้ำอาจจะมีโคลนตมและตะกอนที่มากับน้ำเข้าไปอยู่ จึงต้องมีการตรวจเช็กระบบอย่างละเอียด

ระบบเครื่องปรับอากาศ หลังน้ำลดต้องเรียกช่างแอร์มืออาชีพมาตรวจเช็กระบบเครื่องปรับอากาศภายในบ้านทั้งหมด พร้อมทั้งทำความสะอาดท่อต่าง ๆ แผ่นกรองอากาศ เปลี่ยนฉนวนกันความร้อนที่จมน้ำ ฯลฯ เมื่อช่างแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยแล้วให้ซีลปิดไว้ก่อนจึงจะเริ่มการทำความสะอาดบ้าน

อย่าลืมว่าก่อนจะเปิดเครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดบ้านจนเสร็จเรียบร้อยพร้อมกลับเข้าไปอยู่แล้วเท่านั้น

ถึงเวลาลงมือทำ 

หลังจากตรวจเช็กทุกอย่างจนแน่ใจแล้ว ก็มาถึงวิธีการทำความสะอาดขนานใหญ่ โดยเริ่มตามโปรแกรมดังนี้

1.เริ่มด้วยการขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้านออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อสะดวกในการจัดการกับโคลนตมที่มากับน้ำ ให้ใช้พลั่วตักดินโคลนออกจากพื้นบ้านให้ได้มากที่สุด

จากนั้นจึงใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง (ถ้ามี) หรือสายยางฉีดน้ำเพื่อชะล้างโคลนออกจากพื้นผิว อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยผ่อนแรงได้มากคือ ไม้ปาดน้ำ หากไม่มีและพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก สามารถใช้ผ้าขนหนูทำเป็นผ้าลากน้ำได้ โดยเน้นการกำจัดดินโคลนออกไปให้หมด

2.เรื่องของพื้น หากพื้นบ้านของท่านมีการใช้วัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไวนิล, เสื่อน้ำมัน, พรม, ปาร์เกต์ ฯลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องรื้อวัสดุปูพื้นเหล่านั้นออกเพื่อให้พื้นด้านล่างแห้ง ซึ่งกว่าจะแห้งสนิทอาจใช้ระยะเวลานานพอสมควร

การทำความสะอาดพื้นทุกชนิด ต้องพิจารณาดูตามความเหมาะสมของพื้น โดยทั่วไป ๆ สามารถใช้น้ำผสมคลอรีนในอัตราส่วน 0.1% (1 CC ต่อน้ำ 1,000 CC) ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณก่อนแล้วจึงขัดถูพื้นด้วยน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอก ขัดถูให้ทั่วบริเวณแล้วจึงราดด้วยน้ำร้อนเดือด ๆ หรือใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาเคมีทำความสะอาดที่สามารถฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องอ่านฉลากวิธีใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

หากเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่นที่เป็นสารชีวภาพเอนไซม์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อ กำจัดกลิ่น กำจัดคราบไขมันได้

ข้อดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ คือ สารชีวภาพเอนไซม์นั้นจะยังคงมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่จะเกิดขึ้นใหม่จากความชื้นต่อไปได้อีกนานประมาณ 3-6 เดือน ตราบที่พื้นยังมีความชื้นอยู่ และที่สำคัญสารชีวภาพเอนไซม์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

สำหรับพื้นบ้านที่ปูพรม ถ้าพื้นบ้านที่ปูพรมจมอยู่ใต้น้ำท่วมหรือน้ำเสีย ควรจะตัดใจกำจัดทิ้งไปเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ เพราะพรมเป็นแหล่งเพาะเชื้อราอย่างดี

การทำความสะอาดพรมด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก ต้องใช้มืออาชีพที่เชื่อถือได้ว่าจะใช้น้ำยาซักพรมที่ฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่น และใช้เครื่องมือซักพรมชนิดพิเศษที่สามารถทำความสะอาดได้ล้ำลึก แต่ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดค่อนข้างสูง ควรพิจารณาให้ดี

(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21-23 พ.ย.2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น