วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วม(ผิดปกติ)แบบวิทยาศาสตร์

ฝนตกหนัก น้ำไหลแรง กินเวลานาน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่อุทกภัยแบบเดิมที่ประเทศไทยเคยเจอเมื่ออดีต  อีกทั้งผลกระทบที่ทวีความรุนแรงไม่ว่าทั้งด้านจิตใจ พืชสวนไร่นาเสียหายนับหมื่นไร่ แม้จะรู้อยู่ว่าเป็นภัยธรรมชาติ แต่ในเชิงวิทยาศาสาตร์สามารถให้ความกระจ่างได้ว่าน้ำท่วมและความรุนแรงขณะนี้ก่อตัวมาได้อย่างไร 

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำวิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ว่า ย้อนไปเมื่อปีที่แล้วสภาพการแปรปรวนของภูมิอากาศแบบผกผันก่อให้เกิดสภาพฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล รูปแบบฝนตกได้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก กล่าวคือ จะตกครั้งละมากๆ บางครั้งฝนตกมาครั้งหนึ่งมากกว่าฝนตกเฉลี่ยทั้งปีเสียด้วยซ้ำไป บางที่มีฝนตกเป็นเวลาหลายวันต่อเนื่อง แต่บางครั้งฝนก็ทิ้งช่วงเป็นเวลานานๆ หรือบางพื้นที่ไม่น่าจะมีฝนตกในบางช่วงเวลากลับมีฝนตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตา ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อย่างเช่น น้ำท่วมพื้นที่ปากช่อง ในปี พ.ศ. 2553 หรือน้ำท่วมภาคใต้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้น 

จากการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาชั้นนำของโลกพบว่า ในอนาคตสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศจะมีความถี่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคงก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม พายุโซนร้อน พายุฤดูร้อน แผ่นดินถล่ม ไฟป่า และหลุมยุบเกิดขึ้นกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยขณะนี้ยิ่งแก้ไขก็ยิ่งเหมือนไปเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นให้กับพื้นที่ท้ายน้ำอยู่เสมอ และยังสร้างความขัดแย้งมากขึ้นในสังคม ทั้งประชาชนที่มีระบบป้องกันและไม่มีระบบป้องกัน ชุมชนเมืองและชุมชนภาคเกษตรกร เป็นต้น 

ความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปีนี้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงเหนือความคาดหมายจากเดิมเมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ที่พบว่าปรากฏการณ์ลานินญ่ากระหน่ำประเทศไทยส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักทั้งภาคอีสาน เหนือ กลาง และที่หนักที่สุดคือภาคใต้ แต่จากการศึกษาเรื่องพายุที่มีจุดก่อกำเนิดในทะเลจีนใต้กับปรากฏการณ์ลานินญ่าของ พ.ศ. 2554 พบว่ามีข้อมูลบ่งชี้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมของภาคใต้จากนี้ไป 2-4 เดือน (ต.ค. 2554-ม.ค. 2555) น่าเป็นห่วงมาก มีแนวโน้มสูงที่ภาคใต้และอำเภอหาดใหญ่จะเผชิญกับฝนตกหนักจากลานินญ่าเหมือนใน พ.ศ. 2518, 2531, 2543 และอาจจะมีพายุพัดถล่มเหมือนในปี พ.ศ. 2505 ที่แหลมตะลุมพุก พ.ศ. 2532 พายุเกย์ที่ จ.ชุมพร และเมื่อปลาย พ.ศ. 2553 รวมทั้งเรื่องแผ่นดินถล่มก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้และอาจจะเป็น “มหากาพย์อุทกภัย พ.ศ. 2554” ของภาคใต้อีกปีหนึ่ง 

อ.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ฝนที่ตกแรงและถี่ขึ้นส่วนหนึ่งเพราะรูปแบบการก่อตัวของลานินญ่าเปลี่ยนจากทุก 4.6 ปี เหลือ 3 ปี รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่เปลี่ยนไป จาก 3 ปีต่อครั้งเวียนรอบมาเหลือ 1.6 ปีต่อครั้ง ประกอบกับการก่อตัวของพายุในทะเลจีนใต้จากเดิมก่อตัวในแถบทะเลลึกแต่ปัจจุบันก่อตัวในแถบชายฝั่ง จากสถิติเมื่อปีที่ผ่านมาพบพายุที่ก่อตัวในแถบชายฝั่ง 11 ลูก พายุเหล่านี้เข้ามาเติมปริมาณน้ำฝนเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าในอนาคตเราจะต้องเผชิญกับอุบัติภัยน้ำท่วมถี่และบ่อยขึ้น แต่ถ้าเทียบระหว่างประเทศแล้วประเทศไทยถือว่าโชดดีที่จะเจอแต่หางๆ ของพายุเพราะมีประเทศที่รับช่วงหัวไปเต็มๆ แล้ว คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แต่ช่วงเปลี่ยนฤดูจากฝนเป็นหนาวในเดือนตุลาคมนี้ ภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประกอบอิทธิพลของลานินญ่า เชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้ภาคใต้เกิดน้ำท่วมหนักเหมือนเมื่อครั้งอดีต 

กรุงเทพฯ เคยประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงสุดเมื่ออดีต คือ ปี 2518 มีหลักฐานภาพถ่ายชาวบ้านพายเรืออยู่ในย่านสนามหลวง และครั้งใหญ่ล่าสุดในปี 2538 ปีนั้นอยู่ในปรากฏการณ์เอลนินโญ่ แต่หลังจากนั้นกรุงเทพฯ เริ่มคลี่คลายจากปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งเพราะ กทม.ได้เริ่มสร้างเขื่อนริมน้ำเจ้าพระยา แต่กลับกลายเป็นว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมหนักขึ้น ในประเด็นนี้ อ.ธนวัฒน์ บอกว่า การสร้างเขื่อนกั้นน้ำไม่ได้เป็นวิธีป้องกันน้ำท่วมทั้งระบบ จะส่งผลให้น้ำไปท่วมที่ใดที่หนึ่งแทน ยกตัวอย่างเช่น วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์น้ำท่วมอย่างรวดเร็วภายใน 3 ชั่วโมง ผลจากต่างคนต่างสร้างเขื่อนริมน้ำ เมื่อ กทม. ทำเขื่อนกั้นจังหวัดไหนที่มีงบประมาณก็ทำบ้าง ส่วนประเด็นเขื่อนกักเก็บน้ำเป็นอีกประเด็นที่ไม่ได้เป็นตัวช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สังเกตว่าในปีนี้พื้นที่แนวเขตการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับไม่เจอปัญหาน้ำท่วมรุนแรงทั้งที่ปีนี้มีปริมาณฝนมาก 

ปัจจุบันเขื่อนเก็บน้ำที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2500 หรือ 50 ปีที่ผ่านมามีตะกอนดินจมอยู่ใต้เขื่อน 40-50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพราะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น แผ่นดินถล่ม แต่การกักเก็บน้ำยังใช้ตัวเลขเดิม อีกทั้งเขื่อนยังก่อให้เกิดพลังงานศักย์ น้ำที่ปล่อยลงมาจากที่สูงเมื่อไหลออกมาจึงมีความแรงเป็นพลังสึนามิน้อยๆ จะสังเกตว่าทำไมน้ำท่วมปีนี้น้ำจึงแรง เรือล่ม เพราะน้ำมีพลังงานศักย์” นักวิชาการคนเดิมระบุ 

อย่างไรก็ตาม ดร.ธนวัฒน์ให้ข้อเสนอแนะแผนเร่งด่วนสำหรับการรับมือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า ควรปรับระบบเตือนภัยให้ทันเวลา เร่งวางแผนแม่บทการจัดการน้ำเพื่อวางแผนด้านการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำ ต้องมีประกาศแจ้งให้เก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรก่อน สำหรับกรุงเทพมหานครเสนอว่าควรมีแผนระยะยาวในการสร้างเส้นทางด่วนระบายน้ำ นอกจากนี้ ควรมีมาตรการทางภาษีจัดเก็บภาษีสำหรับคนที่ไม่ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งในพื้นที่รับน้ำต้องปล่อยไว้ห้ามก่อตั้งชุมชน หรือการใช้ภาษีทางอ้อม เช่น ปัจจุบันโรงงานในพื้นที่บางบาลเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะราคาที่ดินถูกเนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำ ลักษณะนี้ควรออกมาตรการทางภาษีอุตสาหกรรมที่ไปตั้งอยู่ในพื้นที่รับน้ำต้องเสียภาษี 10 เท่า 

แผนระยะยาวอีกด้าน กรุงเทพมหานครควรหยุดการเจริญเติบโตของเมืองไว้แค่นี้แต่ไปพัฒนาเมืองบริวาร อาทิ ราชบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี เป็นต้น โดยภาครัฐต้องสร้างระบบขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางไว้ควบคู่กัน

From Dailynews Online 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น